วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Communcative language teaching

การสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communicative Language Teaching (CLT))
การสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communicative Language Teaching (CLT))
                1. ความหมาย การสอนภาษาตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร เป็นการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีการเรียนรู้ ซึ่งมุ่งเน้นความสำคัญของตัวผู้เรียนจัดลำดับการเรียนรู้เป็นขั้นตอนตามกระบวนการใช้ความคิดของผู้เรียน โดยเริ่มจากการฟังไปสู่การพูด การอ่าน การจับใจความสำคัญ ทำความเข้าใจ จดจำแล้วนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้
                2. ความสำคัญ กลุ่มนักจิตวิทยาการเรียนรู้เชื่อว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดในการเรียน ผู้เรียนจะสามารถเรียนได้มากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความเข้าใจเป็นสำคัญ เขาจะเรียนได้ดีถ้าเข้าใจจุดประสงค์ของการเรียน เห็นประโยชน์ในการนำสิ่งที่เรียนไปใช้ โดยสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนไปแล้วให้เข้ากับสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ และสิ่งที่จะช่วยให้เรียนภาษาต่างประเทศได้ดี นอกเหนือจากสองเรื่องที่กล่าวมาแล้วก็คือ ต้องเข้าใจหลักภาษาที่ใช้ในการวางรูปแบบประโยคด้วยการสอนภาษาต่างประเทศในปัจจุบัน ได้หันมายึดแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารมากขึ้น มีการจัดกิจกรรมที่เน้น ผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมี
ความหมาย ได้ฝึกใช้ภาษาในสถานการณ์ที่มีโอกาสพบได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยยังคงให้ความสำคัญกับโครงสร้างไวยากรณ์ ตามที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาที่ใช้สื่อความหมาย ดังที่ ลิตเติลวูด (Littlewood, 1983) กล่าวไว้ว่า แนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเป็นแนวการสอนที่ไม่จำกัดความสามารถของผู้เรียนไว้เพียงแค่ความรู้ด้านโครงสร้างไวยากรณ์เท่านั้น แต่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาทุก
ทักษะ โดยสัมพันธ์ความสามารถทางไวยากรณ์เข้ากับยุทธศาสตร์การสื่อสารด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมกับกาลเทศะ ในชีวิตจริงผู้เรียนต้องสัมผัสกับการสื่อสารซึ่งเป็นการใช้ภาษาในรูปแบบต่างๆมากมาย ดังนั้นการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร ควรสอนให้ผู้เรียนคุ้นกับการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน และนำภาษาที่คุ้นเคยนั้นไปใช้ได้คำกล่าวนี้สอดคล้องกับความเห็นของ วิดโดสัน (Widdowson, 1979) ที่ว่า
ความสามารถในการเรียบเรียงประโยคมิใช่เป็นความสามารถในการสื่อสาร การสื่อสารจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถใช้ประโยคได้หลายชนิดในโอกาสต่างๆกันเช่น การอธิบาย การแนะนำ การถาม-ตอบ การขอร้อง การออกคำสั่ง เป็นต้นความรู้ในการแต่งประโยคเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ความรู้ความเข้าใจภาษา เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง แต่ถ้าจะให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ก็ต้องสามารถนำความรู้ในการใช้ประโยคไปใช้ให้เป็นปกติวิสัยได้ตามโอกาสต่างๆของการสื่อสาร
                3. แนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร ตามคำจำกัดความที่ ดักกลาสบราวน์ (H.Douglas Brown,1993) เสนอไว้ มีลักษณะ 4 ประการ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์
กันดังนี้
                3.1 เป้าหมายของการสอนเน้นไปที่องค์ประกอบทั้งหมดของทักษะการสื่อสาร และไม่จำกัดอยู่ภายในกรอบของเนื้อหาภาษาหรือไวยากรณ์
                3.2 เทคนิคทางภาษาได้รับการออกแบบมา เพื่อนำผู้เรียนไปสู่การใช้ภาษาอย่างแท้จริงตามหน้าที่ภาษา และปฏิบัติจริงโดยมีจุดมุ่งหมายในการพูดรูปแบบโครงสร้างภาษามิใช่เป้าหมายหลัก แต่ตัวรูปแบบเฉพาะของภาษาต่างหากที่ทำให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารจนสำเร็จตามเป้าหมาย
                3.3 ความคล่องแคล่วและความถูกต้อง เป็นหลักการเสริมที่อยู่ภายใต้เทคนิคการสื่อสาร มีหลายครั้งที่ความคล่องแคล่วอาจจะมีความสำคัญมากกว่าความถูกต้อง เพื่อที่จะทำให้ผู้เรียนนำภาษาไปใช้ได้อย่างมีความหมาย
                3.4 ในการเรียนการสอนภาษาตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารในตอนท้ายสุด ผู้เรียนต้องใช้ภาษาอย่างเข้าใจและสร้างสรรค์ ภายในบริบทที่ไม่เคยฝึกมาก่อนจากแนวการสอนต่างๆดังได้กล่าวมาแล้ว ทำให้เกิดแนวคิดในการสอนภาษาว่าควรนำเสนอภาษาใหม่ในรูปแบบภาษาที่พบในสถานการณ์จริง เพื่อนำไปสู่การสอนคำศัพท์ โครงสร้าง การออกเสียง มีการฝึกฝนจนเกิดความเข้าใจในเนื้อหา โครงสร้าง
สามารถใช้ได้ถูกต้อง แล้วจึงนำความรู้ที่ได้ไปฝึกในสถานการณ์จริง แนวคิดนี้จึงกลายเป็นขั้นตอนของการสอนของแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร
                4. ขั้นตอนการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร จากแนวคิดในการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารแบบนี้เอง จึงทำให้เกิดขั้นตอนการสอนต่างๆ 3 ขั้นตอน ที่ใช้จัดการสอนกันทั่วไปในขณะนี้ขึ้น และขั้นตอนการสอนนี้ มีผลเชื่อมโยงต่อไปถึงสถานการณ์การสอน เทคนิคการสอน สื่ออุปกรณ์ และหน่วยการสอนด้วย ครูผู้สอนจึงควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพื่อจะได้จัดการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพขั้นตอนการสอนทั้ง 3 ขั้นนี้ จะพบว่า มีปรากฏอยู่ในวิธีการนำเสนอเนื้อหาในแบบเรียนต่างๆ ที่ผู้เขียนแบบเรียนมีความรู้ด้านภาษาศาสตร์และแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเป็นอย่างดี และปรากฏอยู่ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวการ
สอนภาษาเพื่อการสื่อสารอย่างชัดเจนทั้ง 3 ขั้นตอน วิธีการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนมีดังต่อไปนี้
                4.1 ขั้นการนำเสนอเนื้อหา (Presentation) ในการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ การนำเสนอเนื้อหาใหม่ จัดเป็นขั้นการสอนที่สำคัญขั้นหนึ่ง ในขั้นนี้ครูจะให้ข้อมูลทางภาษาแก่ผู้เรียน ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้ มีการนำเสนอเนื้อหาใหม่ โดยจะมุ่งเน้นการให้ผู้เรียนได้รับรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและรูปแบบภาษาที่ใช้กันจริงโดยทั่วไป รวมทั้งวิธีการใช้ภาษา ไม่ว่าเป็นด้านการออกเสียง ความหมาย คำศัพท์ และโครงสร้างไวยากรณ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้กฎเกณฑ์
                4.2 ขั้นการฝึกปฏิบัติ (Practice) เป็นขั้นตอนที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้ภาษาที่เพิ่งจะเรียนรู้ใหม่จากขั้นการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะของการฝึกแบบควบคุมหรือชี้นำ (Controlled Practice/Directed Activities) โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้นำในการฝึกไปสู่การฝึกแบบค่อยๆปล่อยให้ทำเองมากขึ้น เป็นแบบกึ่งควบคุม
(Semi-Controlled) การฝึกในขั้นนี้มีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนจดจำรูปแบบของภาษาได้ จึงเน้นที่ความถูกต้อง
ของภาษาเป็นหลัก แต่ก็มีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและวิธีการใช้รูปแบบภาษานั้นๆด้วยเช่นกัน ในการฝึกนั้น ครูผู้สอนจะเริ่มจากการฝึกปากเปล่า (Oral) ซึ่งเป็นการพูดตามแบบง่ายๆก่อน จนได้รูปแบบภาษา แล้วค่อยเปลี่ยนสถานการณ์ไป สถานการณ์เหล่านี้จะเป็นสถานการณ์ที่สร้างขึ้นภายในห้องเรียน เพื่อฝึกการใช้โครงสร้างประโยคตามบทเรียน ทั้งนี้ครูผู้สอนต้องให้ข้อมูลป้อนกลับด้วย เพื่อให้ผู้เรียนรู้ว่า ตนใช้ภาษาได้ถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้อาจตรวจสอบความเข้าใจด้านความหมายได้
(ไม่ควรใช้เวลามากนัก) ต่อจากนั้นจึงให้ฝึกด้วยการเขียน (Written) เพื่อเป็นการผนึกความแม่นยำในการใช้
                4.3 ขั้นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร (Production) ขั้นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร นับเป็นขั้นที่สุดขั้นหนึ่ง เพราะการฝึกใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารเปรียบเสมือนการถ่ายโอนการเรียนรู้ภาษาจากสถานการณ์ในชั้นเรียนไปสู่การนำภาษาไปใช้จริงนอกชั้นเรียน การฝึกใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารโดยทั่วไป มุ่งหวังให้ผู้เรียนได้
ลองใช้ภาษาในสถานการณ์ต่างๆ ที่จำลองจากสถานการณ์จริง หรือที่เป็นสถานการณ์จริง ด้วยตนเอง โดยครูผู้สอนเป็นเพียงผู้แนะแนวทางเท่านั้น การฝึกใช้ภาษาในลักษณะนี้มีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยให้ทั้งครูผู้สอนและผู้เรียนได้รู้ว่า ผู้เรียนเข้าใจและเรียนรู้ภาษาไปแล้วมากน้อยเพียงใด สามารถนำไปปรับใช้ตามความต้องการของตนเองแค่ไน ซึ่งการที่จะถือว่าผู้เรียนได้เรียนรู้แล้วอย่างแท้จริงคือ การที่ผู้เรียนสามารถใช้
ภาษาเพื่อการสื่อสารได้เองอย่างอิสระ ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่จะพบในชีวิตจริงนอกจากนี้ผู้เรียนจะมีโอกาสนำความรู้ทางภาษาที่เคยเรียนมาแล้วมาใช้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ในการฝึกในขั้นตอนนี้อีกด้วย เพราะผู้เรียนไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาตามรูปแบบที่กำหนดมาให้เหมือนดังกรฝึกในขั้นการฝึก และการได้เลือกใช้ภาษาเองนี้ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารให้แก่ผู้เรียนได้เป็นอย่างดี วิธีการฝึกมักฝึกในรูปของการทำกิจกรรมแบบต่างๆ โดยครูผู้สอนเป็นเพียงผู้กำหนดภาระงาน หรือสถานการณ์
ต่างๆให้ผู้เรียน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น